Translate

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชี้ทำงานหนักเสี่ยงโรคซึมเศร้า



ชี้ทำงานหนักเสี่ยงโรคซึมเศร้า

วิจัยพบคนทำงานเกินวันละ 11 ชั่วโมงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสองเท่าที่จะเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้หญิง คนหนุ่มสาว รวมทั้งคนที่ได้ค่าตอบแทนน้อยและดื่มแอลกอฮอล์ปานกลาง
นักวิจัยในอังกฤษบอกว่า คนที่ทำงานในสำนักงานเกินสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมง มีความเสี่ยงดังกล่าวมากกว่าคนที่ทำงานตามเวลามาตรฐาน
ทีมวิจัยได้เลือกตัวอย่างข้าราชการของรัฐบาลอังกฤษกว่า 2,000 คน เข้าร่วมในการศึกษานี้ตั้งแต่เมื่อต้นทศวรรษ 2533 โดยเลือกคนในวัย 35-55 ปี จากหลากหลายตำแหน่งงาน ระดับเงินเดือน และชั่วโมงการทำงาน
เมื่อย้อนกลับไปติดตามผลในอีก 6 ปีให้หลัง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ 2 แห่ง กับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยของฟินแลนด์อีกแห่ง พบว่า การทำงานล่วงเวลากับโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กันอย่างมาก แม้ได้นำปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มาร่วมพิจารณาด้วยแล้วก็ตาม เช่น การใช้ชีวิต สถานภาพสมรส และระดับความเครียดของงาน
ในจำนวนนี้มี 66 คนที่เป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง หรือคิดเป็นอัตรา 3.1% โดยคนที่ทำงานวันละ 11 ชั่วโมงขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2 เท่าครึ่งที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมง
นักวิจัยยังพบด้วยว่า พวกที่ทำงานวันละหลายชั่วโมงนั้นจำนวนมากเป็นผู้ชาย ได้ค่าตอบแทนสูง และต้องทำงานที่ท้าทาย แต่คนเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าค่อนข้างต่ำ
ผู้วิจัยบอกว่า พวกที่ได้ค่าตอบแทนสูงมักไม่มีอาการซึมเศร้า เพราะได้ทำงานที่ชอบ และมีทีมงานที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของตัวเอง
แต่ผู้หญิงที่ได้รับค่าตอบแทนสูงมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะคนกลุ่มนี้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากการงานด้วย
คนวัยหนุ่มสาวซึ่งพยายามไต่เต้าในอาชีพการงาน และมีรายจ่ายสูง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอาการซึมเศร้าสูง
ศาสตราจารย์สตีเฟน สแตนส์เฟลด์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า คนที่ทำงานนานหลายชั่วโมงอาจทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง และต้องคำนึงถึงสุขภาพและความเครียดของตัวเองด้วย


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น